หากจะพูดถึงความงดงามของการแสดงโขนไทยนั้น นอกจากท่วงท่าและลีลาที่สวยงามในการแสดง เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับที่ดูสวยงามจับตาต้องใจแล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่มักสะกดเหล่าผู้ชมได้อย่างอยู่หมัด นั่นก็คือดนตรีและเพลงบรรเลงในการประกอบการแสดง

โดยวงดนตรีที่ใช้ในการบรรเลงประกอบการแสดงโขนคือวงปี่พาทย์ ซึ่งประกอบไปด้วย ปี่ ระนาด ฆ้อง กลอง ตะโพน แต่หากแสดงในงานใหญ่ ๆ ที่ต้องใช้จำนวนจำนวนมากในการแสดงก็อาจจะมีการขยายวงปี่พาทย์เป็นวงปี่พาทย์เครื่องตู่หรือวงปี่พาทย์เครื่องใหญ่ก็ได้ แต่ในบางยุคสมัยก็อาจจะมีการจัดเป็นวงปี่พาทย์เครื่องห้าตามแต่ฐานะของผู้จัดงาน

เพลงประกอบการแสดงโขนนั้นจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

เพลงหน้าพาทย์

เป็นเพลงที่ใช้ในการบรรเลงเพื่อประกอบอากัปกิริยาอาการและการแสดงท่าทางต่าง ๆ ของตัวละคร มักจะไม่มีบทร้อง แต่จะใช้ท่วงทำนองในการดำเนินกิริยา โดยเพลงหน้าพาทย์ที่ใช้ประกอบท่วงท่ากิริยานั้นมีมากมายหลากหลายเพลง โดยมีทั้งเพลงที่ใช้ในการประกอบกิริยาออกจากโรงพิธีสำคัญ และเพลงที่ใช้ในการประกอบกิริยาการเข้าโรงพิธีสำคัญ เป็นต้น

เพลงร้อง

เป็นเพลงที่มักจะให้อารมณ์และสื่อความหมายที่แตกต่างกัน บางเพลงอาจจะใช้การร้องอย่างเดียวโดยไม่มีดนตรีประกอบใด ๆ แต่อาจจะมีการสร้างจังหวะจากเครื่องดนตรีประเภทกรับหรือฉิ่ง หรืออาจจะเป็นเพลงแบบร้องลำลอง ร้องคลอ การบรรจุเพลงร้องตามทำนองเพื่อสื่ออารมณ์ในแต่ละฉากละตอนนั้นมีความสำคัญและยังสามารถใช้ได้ในโอกาสต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงอารมณ์โศกเศร้าเสียใจ หรืออารมณ์โกรธเคือง เป็นต้น

เพลงและดนตรีนั้น เป็นส่วนประกอบที่สำคัญสำหรับทุก ๆ การแสดง เพราะจะช่วยให้ผู้ชมการแสดงมีความเพลิดเพลินและคล้อยตามไปกับอารมณ์ของตัวละครได้ง่ายดายมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้การชมการแสดงมีความสนุกสนานและเข้าถึงการแสดงได้มากยิ่งขึ้น