การแสดงโขนของไทยนั้นมีประวัติสืบทอดกันมาอย่างยาวนานตั้งแต่ในยุคสมัยกรุงศรีอยุธยา จึงไม่น่าแปลกใจว่าจะมีการปรับเปลี่ยนบทของการแสดงให้เหมาะสมในยุคนั้น ๆ และสำหรับบทละครที่ใช้ในการแสดงโขนในยุคปัจจุบันมีเพียงบทละครเดียว นั่นก็คือบทละครเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งเป็นบทละครที่มีสำนวนในหลากหลายภาษา โดยเป็นเรื่องราวที่เล่าเกี่ยวกับพระนารายณ์ที่อวตารลงมาเกิดเป็นพระรามเพื่อปราบยักษ์นนทกที่ลงมาเกิดเป็นทศกัณฐ์ โดยบทละครรามเกียรติ์ที่ใช้ในการแสดงโขนในแต่ละยุคสมัย มีรายละเอียดดังนี้
บทละครรามเกียรติ์สมัยกรุงศรีอยุธยา
ในยุคนี้ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดในเรื่องของคำฉันท์ที่สูญหายไปตามกาลเวลา จะเหลือก็เพียง 3-4 บทเท่านั้นคือ ตอนพระอินทร์สั่งให้พระมาตุลีนำราชรถมาถวายที่สนามรบ ตอนพระรามเศร้าโสกเสียใจรำพึงรำพันเมื่อทศกัณฐ์ลักพาตัวนางสีดา บทพรรษตอนมหาบาศบุตรของทศกัณฐ์ และบทละครตอนพิเภกคร่ำครวญหลังทศกัณฐ์ล้ม
บทละครรามเกียรติ์สมัยกรุงธนบุรี
ปรากฏหลักฐาน 4 ตอนในยุคนี้ คือ ตอนพระมงกุฎ ตอนหนุมานเกี้ยวนางวานรินทร์ ตอนท้าวมาลีวราชว่าความจนถึงทศกัณฐ์เข้าเมือง ตอนทศกัณฐ์ตั้งพิธีทรายกรด ตอนพระลักษมณ์ต้องหอกกบิลพัท ไปจนถึงตอนหนุมานผูกผมนางมณโฑกับทศกัณฐ์
บทละครรามเกียรติ์สมัยรัตนโกสินทร์
เป็นยุคสมัยที่รัชกาลที่ 1 ที่มีพระราชประสงค์ต้องการรวบรวมบทละครรามเกียรติ์ทั้งหมดให้เป็นเรื่องเดียวกัน และพระราชนิพนธ์ใหม่เป็นบทละครที่มีความยาวมากที่สุดในรามเกียรติ์ทุกเรื่องในภาษาไทย โดยในยุคสมัยนี้ได้มีการปรับเนื้อเรื่องขึ้นใหม่ และมีการแต่งเรื่องขึ้นใหม่มากมายหลายครั้งในหลาย ๆ รัชกาล และเป็นเรื่องต้นฉบับของการแสดงโขนในยุคปัจจุบัน
ถึงแม้ว่าบทละครในการแสดงโขนในท้องเรื่องรามเกียรติ์นั้นจะมีความแตกต่างกันตามแต่ละยุคสมัย แต่ความสนุกสนานและความสวยงามของการแสดงก็ยังคงอยู่และไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม