โขน เป็นหนึ่งในศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทยที่มีความงดงามวิจิตร มีประวัติยาวนานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ล่าสุด โขนไทยได้ถูกยกย่องให้เป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ประวัติโขนไทย
คำว่า “โขน” ไม่ปรากฏแน่ชัดว่ามีการบัญญัติขึ้นในสมัยใด แต่มักปรากฏในบันทึกทางประวัติศาสตร์ในส่วนของการละเล่นของไทยมาอย่างนมนาน โขนตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 ระบุความหมายของโขนไว้ว่า โขนหมายถึงการเล่นอย่างหนึ่งคล้ายละครรำ แต่เล่นเฉพาะในเรื่องรามเกียรติ์ โดยผู้แสดงสวมหัวจำลองต่าง ๆ ที่เรียกว่าหัวโขน
โขนโดยทั่ว ๆ ไปมักนิยมแสดงเรื่องรามยณะหรือรามเกียรติ์ โดยแต่เดิมนั้นไม่มีฉากสำหรับประกอบการแสดง จนมาถึงรัชกาลที่ 5 ได้ทรงคิดสร้างฉากประกอบการแสดงโขนบนเวทีขึ้น
ประเภทของโขน
การแสดงโขนแบ่งออกเป็นหลายประเภทดังนี้
โขนกลางแปลง
เป็นโขนที่เล่นกันกลางแจ้ง ใช้ธรรมชาติเป็นฉากในการแสดง
โขนนั่งราว
เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าโขนโรงนอก แสดงในสถานที่ที่จัดขึ้นสำหรับทำการแสดง มีราวไม้ไผ่วางพาดตามส่วนยาวของโรง
โขนโรงใน
ผู้แสดงเป็นพระ และนาง ไม่จำเป็นต้องสวมหัวโขน มีการพากย์และเจรจาตามแบบฉบับของการแสดงโขน นำเพลงขับร้องประกอบอากัปกิริยาอาการของตัวละคร และแสดงในโรงละคร
โขนหน้าจอ
เป็นโขนที่แสดงหน้าจอหนังใหญ่ หรือที่เราเรียกว่าหนังตะลุงนั่นเอง โดยผู้แสดงโขนออกมาแสดง สลับกับการเชิดตัวหนังที่ฉลุเป็นรูปตัวละครต่าง ๆ
โขนฉาก
เป็นการแสดงโขนที่มีการจัดฉากขึ้นให้สอดคล้องกับบทละครและท้องเรื่อง ซึ่งมีต้นกำเนิดในรัชกาลที่ 5
การแสดงโขน ถือเป็นการแสดงของไทยที่สวยสง่างาม เป็นมรดกล้ำค่าที่คนไทยควรตระหนักถึงความสำคัญในสมบัติของบรรพบุรุษที่สืบทอดต่อกันมา และเก็บรักษาไว้เพื่อให้รุ่นลูกรุ่นหลานได้ชื่นชมความงดงามของการแสดงนี้