โขน ศิลปะการแสดงของชนชาติไทยที่มีความงดงามอ่อนช้อย แต่แฝงไปด้วยพลัง การแสดงโขนนั้นเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ตามหลักฐานที่ถูกค้นพบได้มีการกล่าวถึงการเล่นโขนไว้ว่าเป็นการเต้นออกท่าออกทางให้เข้ากับเสียงดนตรีบรรเลง ผู้เต้นจะสวมหน้ากากและถืออาวุธ เป็นการแสดงที่งดงามล้อตามวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์

การแสดงโขนนั้นมีพัฒนาการมากมายและจำแนกประเภทได้อย่างหลากหลาย แต่ในปัจจุบันก็มีการเปิดกว้างมากยิ่งขึ้น จากที่แต่ก่อนนั้นจะอนุญาตให้ผู้ชายเท่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของการแสดง แต่ในปัจจุบัน ผู้หญิงสามารถเข้าร่วมการแสดงได้

ความงดงามของโขน การแสดงที่อยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน

และนอกจากการแสดงอันแสนงดงามจับใจแล้ว บทพากย์โขนก็ยังมีความงดงามไม่แพ้กัน โดยบทพากย์จะมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป แต่มีความงดงามอยู่การส่งและรับมีความสัมผัสกันไปเรื่อย ๆ ซึ่งมีความงดงามระรื่นหูเข้ากับท่วงท่าการแสดง

ความงามที่สัมผัสได้ในหลากหลายวาระโอกาส

โอกาสที่ใช้ในการแสดงโขนนั้นมีอยู่หลายวาระ ได้แก่ การแสดงในวาระถวายพระเพลิงพระศพของเจ้าฟ้า ขุนนาง หรือเจ้านาย หรือจะแสดงในงานเฉลิมฉลองและงานรื่นเริงต่าง ๆ และใช้แสดงในงานมหรสพเพื่อความบันเทิงในโอกาสทั่ว ๆ ไปได้อีกด้วย

นอกจากความงดงามที่สามารถชื่นชมได้ผ่านสายตาแล้ว การแสดงโขนนั้นยังมีคุณค่าในแง่ของการเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของไทย ในแง่ของการคิด คติเตือนใจ คุณธรรมและจริยธรรมต่าง ๆ ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตประจำวันอีกด้วย